จังหวัดสมุทรสาคร หรือที่เรียกกันอีกอย่างว่า เมืองมหาชัย นั้นเป็นจังหวัดเล็กๆ ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯมากนัก มีร้านอาหาร และวัดให้กราบไหว้มากมาย เป็นเมืองประวัติศาสตร์ที่บันทึกไว้ในพงศาวดาร มีเรื่องราวของพันท้ายนรสิงห์ผู้ซึ่อสัตย์และจงรักภักดี มีการจัดตั้ง ศาลพันท้ายนรสิงห์ ขึ้นมาเป็นที่ท่องเที่ยวให้ผู้คนมากราบไหว้ขอพร ศาลนี้ห่างจากตัวเมืองสมุทรสาครประมาณ 7 กิโลเมตร มีเนื้อที่ทั้งหมด 15 ไร่โดยประมาณ ภายในวัดมีพระอุโบสถสองชั้น มีพระพุทธรูปสมเด็จองค์ปฐมประดิษฐานอยู่, มีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่วิจิตรงดงาม, มีพระพุทธรูปยืนสูงตระหง่าน, มีพระเจดีย์จุฬามณีที่สวยงาม, มีรูปหล่อพระราชพรหมยาน, มีหลวงพ่อฤาษีลิงดำ และครูบาอาจารย์ชื่อดัง ไว้ให้พุทธศาสนิกชนได้ร่วมกราบไหว้ทำบุญกัน
ประวัติพันท้ายนรสิงห์
พันท้ายนรสิงห์ เป็นชาวบ้านนรสิงห์ (จังหวัดอ่างทอง) รับราชการเป็นนายท้ายเรือพระที่นั่งเอกไชย ของสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 (พระเจ้าเสือ) แห่งกรุงศรีอยุธยา ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้มีความซื่อสัตย์, จงรักภักดี และรักษาระเบียบวินัยยิ่งชีพ มีอยู่วันหนึ่งสมเด็จพระเจ้าเสือประพาสปากน้ำสาครบุรีเพื่อทรงเบ็ด ด้วยเรือพระที่นั่งเอกไชยมีพันท้ายนรสิงห์เป็นนายท้ายเรือ เมื่อเรือพระที่นั่งไปถึงตำบลโคกขาม แล้วคลองบริเวณดังกล่าวก็มีความคดเคี้ยวอยู่มาก พันท้ายนรสิงห์พยายามคัดท้ายเรือพระที่นั่งด้วยความระมัดระวัง แต่ก็ไม่อาจเลี่ยงอุบัติเหตุได้ จึงทำให้หัวเรือพระที่นั่งชนเข้ากับกิ่งไม้ใหญ่หักตกลงไปในน้ำ ด้วยความผิดในครั้งนี้ จึงมีโทษถึงประหารชีวิตตามโบราณราชประเพณี พันท้ายนรสิงห์จึงกราบทูลพระกรุณาเพื่อน้อมรับโทษตามพระราชประเพณี สมเด็จพระเจ้าเสือทรงพิจารณาเห็นว่าอุบัติเหตุครั้งนี้เป็นการสุดวิสัยมิใช่ความประมาทจึงพระราชทานอภัยโทษให้ แต่พันท้ายนรสิงห์กราบบังคมยืนยันขอให้ตัดศรีษะตนเพื่อรักษาขนบธรรมเนียมในพระราชกำหนดกฎหมาย เป็นการป้องกันมิให้ผู้ใดครหาติเตียนพระเจ้าอยู่หัวได้ว่าทรงละเลยพระราชกำหนดของแผ่นดินและเพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างสืบไป พระองค์จึงทรงโปรดให้ฝีพายทั้งปวงปั้นมูลดินเป็นรูปพันท้ายนรสิงห์ แล้วให้ตัดศีรษะรูปดินนั้นเพื่อเป็นการทดแทนกัน แต่พันท้ายนรสิงห์ยังบังคมกราบทูลยืนยันขอให้ประหารตนเสีย แม้สมเด็จพระเจ้าเสือจะทรงอาลัยรักน้ำใจพันท้ายนรสิงห์เพียงใดก็ทรงจำพระทัยปฎิบัติตามพระราชกำหนด ดำรัสสั่งให้เพชฌฆาตประหารพันท้ายนรสิงห์แล้วโปรดให้ตั้งศาลสูงประมาณเพียงตา เพื่อนำศีรษะพันท้ายนรสิงห์กับหัวเรือพระที่นั่งเอกไชยซึ่งหักนั้น ขึ้นพลีกรรมไว้ด้วยกันบนศาล เพื่อเป็นอนุสรณ์แสดงถึงความซื่อสัตย์จงรักภักดี จนเป็นที่รู้จักมาถึงปัจจุบัน และได้ตั้งชื่อที่นี่ว่า “ศาลพันท้ายนรสิงห์”
แต่ก็ยังมีอีกประวัติหนึ่งซึ่งกล่าวไว้ว่า เหตุที่จริงแล้วพันท้ายนรสิงห์รู้ว่ามีกบฏต้องการปลงพระชนม์สมเด็จพระเจ้าเสือจึงนำเรือเข้าไปในน้ำที่คดเคี้ยวเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้กบฏมาถึงตัวสมเด็จพระเจ้าเสือได้ แต่ก็มีอีกฝ่ายที่ตั้งข้อสงสัยว่า ประวัติพันท้ายนรสิงห์นั้น ไม่มีจริง เป็นเพียงแค่เรื่องที่แต่งขึ้นในสมัยนั้นเท่านั้น ปัจจุบันก็ยังไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าประวัติศาสตร์ที่แท้จริงเป็นอย่างไร ถึงกระนั้น พันท้ายนรสิงห์ก็ขึ้นชื่อว่า เป็นผู้ที่มี ความซื่อสัตย์ จงรักภักดี ยิ่งชีพ เป็นที่เลื่อมใสของผู้คนมากมายอยู่ดี
ศาลพันท้ายนรสิงห์ นี้ผู้คนส่วนใหญ่นิยมมาขอพร ให้ประสบผลสำเร็จ ซึ่งหลายคนก็ได้ผลตามนั้นจึงนิยมนำรูปปั้นไก่,นวมชกมวย หรือไม้พายเรือ มาถวายเพื่อเป็นการแก้บน เนื่องจากประวัติที่กล่าวไว้นั้นแสดงให้เห็นว่า พันท้ายนรสิงห์ชอบชกมวยและตีไก่นั่นเอง พอสิ่งของที่ผู้คนนำมาแก้บนกันเยอะแยะนั้น ทางศาลฯ จึงได้นำออกมาประมูลขาย เพื่อนำรายได้นั้นไปดูแลรักษาศาลพันท้ายฯ ต่อไป
หุ่นไก่ที่นำมาถวายเยอะมากๆ |
ภายในบริเวณศาลพันท้ายนรสิงห์นี้ จะมีเสาไม้ที่ครอบแก้วไว้นั่นคือ หลักประหารของจริง ที่เหลือเพียงแค่เสาไม้ชิ้นเดียว ส่วนทางด้านซ้ายที่เป็นเสารูปไม้กางเขน เป็นเสาจำลองที่สร้างขึ้นมาใหม่ เพื่อให้คนที่ไปเที่ยวชมเห็นแล้วจะได้รู้ว่าตรงนี้เป็นหลักประหารเดิม พร้อมมีป้ายห้ามขีดหรือถูไว้ด้วย
ด้านล่างของศาลพันท้ายฯ นั้นจะมีเรือไม้ซึ่งทำจากไม้ตะเคียนขนาดใหญ่ คาดว่ามีอายุกว่า 300 ปี ชาวบ้านแถวนั้นเป็นผู้ขุดพบ และนำมาบริจาคไว้ที่ศาลพันท้ายฯ ชาวบ้านในแถบนี้เชื่อว่า อาจเป็นเรือในขบวนเสด็จ หรือ เรือที่ใช้ลำเลียงทหารในอดีต และด้านหลังของศาลก็จะมีหลักประหารเดิม และมีหุ่นจำลองเหตุการณ์ในครั้งนั้นให้เราได้ดูด้วย
นอกจากนี้ในบริเวณ ศาลพันท้ายนรสิงห์ ยังมีเขตอนุรักษ์ป่าชายเลนด้วย เพียงขึ้นสะพานข้ามคลองไปก็จะเป็นเขตอนุรักษ์ป่าชายเลนของกระทรวงเกษตรแล้ว แหล่งศึกษาเรียนรู้ทรัพยากรธรรมชาติชายฝั่งทะเล มีต้นโกงกาง ขี้นอยู่มากมาย อยู่รอบตลอดแนวชายคลองเลย สามารถพบเห็นปลาตีนและ ปูเปรี้ยว ได้ทั่วไป ร่มรื่นและสงบมาก อย่าลืมเดินด้วยความระมัดระวังด้วยนะคะ หรือใครอยากไปเที่ยวต่อในบริเวณใกล้เคียงศาลฯ นั้น ก็จะมีให้เยี่ยมชมหอพระ และศาลแม่ศรีนวล ซึ่งเป็นภรรยาของพันท้ายนรสิงห์อีกด้วย
การเดินทางไปศาลฯ
จากกรุงเทพฯมายัง ศาลพันท้ายนรสิงห์ จะใช้เส้นทางถนนพระราม 2 มุ่งหน้าสู่จังหวัดสมุทรสาคร เมื่อถึงทางยกระดับให้ข้ามถนนกาญจนาภิเษก หรือวงแหวนอุตสาหกรรม ไปอีก 7 กิโลเมตรจะมีทางแยกซ้ายมือ ที่หน้าปากซอยจะมีวัดที่ชื่อเหมือนๆกันว่าวัดพันท้ายนรสิงห์ แต่จุดนี้ยังไม่ใช่นะคะ ศาลพันท้ายนรสิงห์ นั้นจะต้องเลี้ยวซ้ายเข้าไปตามถนนทางแยกซ้ายมืออีกประมาณ ?9 กิโลเมตร ถ้ามาจากทางจังหวัดสมุทรสาครนั้น สามารถใช้ได้ทั้งเส้นทางถนนพระราม 2 และอีกเส้นทางคือใช้เส้นทางจากถนนเอกชัย เข้าถนนสายสหกรณ์-ศาลพันท้ายนรสิงห์ หมายเลข 3423 เป็นระยะทางประมาณ 15 กิโลเมตร เส้นทางการไปศาลฯนั้นค่อนข้างจะเลี้ยวไปเลี้ยวมาสักหน่อย แต่จะมีป้ายคอยบอกทางไปศาลฯ เป็นระยะจนสุดทาง ก็จะผ่านหน้าศาลพันท้ายก่อนที่จะถึงวัดซึ่งอยู่ติดกันนั่นเอง แต่เนื่องจากบริเวณโดยรอบของศาลฯ และตามสองข้างทางที่วิ่งไปนั้นล้อมรอบไปด้วยธรรมชาติ สบายหูสบายตาดี และยังมีแหล่งธรรมชาติที่มีนกแวะเวียนมาแต่ละฤดู แถมเป็นแหล่งอนุรักษ์รรมชาติ ป่าชายเลนอีกด้วยนะ
Recent Comments
ไม่ระบุชื่อ
8 years ago
admin
8 years ago